“กล้าที่จะถูกเกลียด” เขียนโดย คิชิมิ อิชิโร, โคะโกะ ฟุมิทะเกะ

ถ้าใครกำลังรู้สึกเบื่อหน่ายสังคมแห่งการทำงาน สังคมรอบข้าง เพื่อนฝูง ครอบครัว หรือกำลังโดนเอารัดเอาเปรียบอยู่ละก็ หนังสือที่จะแนะนำให้อ่านก็คงจะหนีไม่พ้นหนังสือเล่มนี้ “กล้าที่จะถูกเกลียด”

แค่อ่านชื่อหนังสือก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากแค่ไหน ต้องชื่นชมนักแปล โยซุเกะ และนิพดา เขียวอุไร ที่ตั้งชื่อภาษาไทยได้น่าสนใจขนาดนี้ จากฝีมือนักเขียนญี่ปุ่น 2 คน ชิมิ อิชิโร และโคะโกะ ฟุมิทะเกะ ที่ถ่ายทอดเรื่องราววิธีคิดในการพัฒนาตนเองทางด้านจิตวิทยา จนหนังสือเล่มนี้กลายเป็น Best Seller ในร้านหนังสือเลยทีเดียว

หากจะพูดถึงหลักจิตวิทยาหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าหลักจิตวิทยามีหลายแขนงหลายศาสตร์มาก จิตวิทยาบางแขนงก็เป็นที่ยอมรับและนิยมในวงกว้าง แต่บางแขนงก็น้อยคนนักที่จะรู้จัก หนังสือเล่มนี้ได้หยิบเรื่องราว หลักจิตวิทยาแอดเลอร์ ของ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาผู้ถูกยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการพัฒนาตนเอง” มาถ่ายทอดในรูปแบบของชายหนุ่มผู้ไม่เชื่อและไม่เข้าใจจิตวิทยาของแอดเลอร์จึงเดินทางมาสอบถามข้อเท็จจริงกับ “อาจารย์” นักปรัชญาที่เชี่ยวชาญศาสตร์นี้ ซึ่งหลักจิตวิทยานี้เป็นจิตวิทยาแนวปัจเจกบุคคล ที่สอนให้คนรู้จักพึ่งพาตนเอง รู้เท่าทันความคิดของตนเอง และสามารถแยกแยะเรื่องราวของตนเองและผู้อื่นได้

ผู้เขียนจะเล่าเรื่องราวในเชิงบทสนทนาระหว่างชายหนุ่มคนหนึ่ง กับนักปรัชญา โดยจะมีการตั้งประเด็นมาถกเถียง หาข้อโต้แย้งกัน ซึ่งทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจและเป็นการเสนอมุมมองของจิตวิทยาที่ไม่น่าเบื่อ แถมยังมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันทำให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แต่คงเนื้อหาและใจความสำคัญไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยจะพูดถึงชีวิตของคนเราที่เรามักจะไม่พัฒนาไปไกลและทุกข์ใจเพราะการยอมคนอื่น การเอาอกเอาใจผู้อื่น มองแต่ชีวิตผู้อื่น การยอมโดนเอารัดเอาเปรียบ แต่สุดท้ายความอึดอัดใจกลับมาตกอยู่ที่ตัวเราเอง มันสะท้อนถึงสังคมการทำงาน สังคมเพื่อนฝูง และแม้แต่สังคมเล็ก ๆ อย่างสังคมครอบครัว ปรัชญาของแอดเลอร์จะบอกให้เราเลือกที่จะหันมาดูแลความรู้สึกของตนเองก่อน เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาตัวเองให้ไปได้ไกลมากขึ้น และแน่นอนหลายครั้งการทำแบบนี้สิ่งที่อาจจะต้องแลกมา คือความอิจฉาริษยาของคนรอบข้าง ความไม่พอใจ ไม่ถูกใจใคร จึงตอบที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ “กล้าที่จะถูกเกลียด”

หลายคนอาจจะคิดว่า เป็นหลักการทางความคิดที่สุดโต่งไปหรือเปล่า แต่แท้จริงแล้วหนังสือเล่มนี้กำลังสอนให้เรารักตัวเอง มองเห็นคุณค่าในตัวเอง ที่ไม่ใช่เห็นแก่ตัวหรือเบียดเบียนคนอื่น และที่สำคัญคือการที่เราไม่ยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนเรา หากจะเทียบกับสุภาษิตไทยที่เราคุ้นหูกันก็คือ “เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด” นั่นเอง

หากลองอ่านดู จะรู้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้น่ากลัวแบบชื่อหนังสือเลย และแน่นอนการยอมถูกเกลียดจากคนที่ทำไม่ดีกับกับเราก็ไม่ใช่เรื่องแย่สักเท่าไหร่