Tag Archives: นวนิยายรางวัลวรรณกรรมบัวหลวง

นวนิยายเรื่อง “คำอ้าย” อ่านความสุขเล็กๆในพื้นที่เล็กๆที่กำลังงอกงาม

“คำอ้าย” เป็นนวนิยายรางวัลวรรณกรรมบัวหลวง ประจำปี 2532 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานอันละเมียดละไมของ    ยงค์ ยโสธร นามปากกาของประยงค์ มูลสาร ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมบัวหลวง ประจำปี 2532 ยงค์ ยโสธร เลือกให้คำอ้ายเด็กชายตัวเล็กแกร็น หูกาง เป็นตัวแทนความรื่นรมย์อันมีชีวิตชีวาของเด็กชนบทแห่งที่ราบสูง ชีวิตเล็กๆ ที่ผูกพันอยู่กับท้องไร่ท้องนาและควายถึก จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะเป็นนวนิยายที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ ที่น่าลองหยิบมาอ่านดูซักครั้ง

กลิ่นอายของความสุข ในพื้นที่แห่งความสุข

นวนิยายเรื่องคำอ้ายเป็นนวนิยายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนเพราะเรื่องนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของท้องทุ่ง และวัฒนธรรมธรรมแบบอีสาน การดำเนินเรื่องที่สอดแทรกบรรยากาศของวิถีชีวิตแบบชาวบ้านดั้งเดิม ซึ่งบางอย่างก็หายไปแล้ว บางอย่างก็ยังคงเหลือสืบลูกสืบหลาน แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ก็ยังคงอยู่ ทั้งประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีลงข่วง ผู้สาวเข็นฝ้าย ผู้ชายเป่าแคน ยงค์ ยโสธรยังได้ฉายภาพของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเลี้ยงปากท้อง ความแห้งแล้งที่เป็นความโหดร้ายจากธรรมชาติที่เป็นบททดสอบอันยิ่งใหญ่ของชาวบ้าน ซึ่งหลายคนในหมู่บ้านวังเดือนห้าก็พยายามจะอพยพเพื่อหาที่ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า แต่บางคนก็เลือกที่จะอยู่เพื่อต่อสู้กับชะตากรรมกันเจ็บปวดที่บ้านเกิด การอพยพย้ายถิ่นฐานก่อนที่หน้าแล้งและความอดยากจะมาเยือน

“คำอ้าย” เรื่องราวของเด็กธรรมดาที่ไม่ธรรมดา กับความสุขที่แสนบริสุทธิ์

คำอ้ายลูกชายคนโตของครอบครัว ผู้ที่ต้องรับภาระช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่ยังเด็ก แต่ด้วยความฉลาด ช่างพูดและเป็นเด็กดีมีน้ำใจ ทำให้หลายคนหลงเสน่ห์ของคำอ้าย ในเรื่องนี้พวกเด็กๆจะได้เรียนรู้ที่จะขุดปู จับปลา ยิงกระต่าย ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่สูงสุดของเด็กอย่างคำอ้ายคือการดูแลควายอีหลอยไม่ให้มันผลัดหายและไม่ให้มันเกเรลงไปลุยข้าวในนาหรือแอบกินต้นข้าวของชาวบ้าน เพราะหากเผลอเล่นซนมากจนลืมดูควายเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงคำอ้ายจะโดนไม้เรียวของพ่อที่คำอ้ายเคยลิ้มรสมาแล้วหลายครั้งจนถึงเมื่อเวลาที่เด็กจะต้องเข้าโรงเรียนโลกของคำอ้ายก็ดูจะมีสีสันเข้มข้นมากขึ้นถึงแม้คำอ้ายจะเป็นคนเรียนเก่งแต่เมื่อยังมีน้องอีกสามคนที่คำอ้ายผู้เป็นพี่คนโตต้องรับผิดชอบกับพ่อแม่จำต้องให้คำอ้ายต้องเรียนแค่ชั้นประถมสี่ แต่ก็ยังดีที่ได้บวชเรียน ตามวิถีและเส้นทางของเด็กผู้ชายในชนบท

นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับชะตากรรมที่เกิดจากความยากจนแร้นแค้น ทำให้ผ้าขาวได้รับการแต่งแต้มจากธรรมชาติ ทั้งที่เป็นสีสันสดใสที่เป็นของขวัญจากธรรมชาติที่มอบให้ ท้องนา ผืนป่า และผู้คนในชุมชน และรอยหมองคล้ำ ที่เกิดจากการผลัดพราก ภัยธรรมชาติ และความยากจน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผ้าขาวหมดคุณค่าไป ทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตที่ทำให้เราทั้งสะเทือนใจและขบขันไปกับท่วงทำนองแห่งความไร้เดียงสา และขาวสะอาด แบบเด็ก ๆ หนังสือเล่มนี้หากคุณอยากสัมผัสกับความอบอวลดังกล่าวคงต้องลองไปหาอ่านกันดู แล้วคุณอาจจะหลงรักคำอ้ายเด็กชายหูกางก็เป็นได้