Tag Archives: หนังสือต่างประเทศ

Fahrenheit 451 เขียนโดย Ray Bradbury

จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกนี้ไม่มีหนังสือ ? และหนังสือทำหน้าที่อะไรมากกว่าเพื่อความบันเทิงยามว่างและให้ความรู้หรือไม่ ? และภายใต้ความรู้ของหนังสือเหล่านั้นมีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?  ในนวนิยายเรื่อง Fahrenheit 451 เขียนโดย Ray Bradbury นักเขียนชาวอเมริกันจะจำลองสังคมที่ไร้ซึ่งหนังสือให้เราได้เห็น เรื่องนี้เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย เล่าถึงสังคมที่รัฐขึ้นมามีอำนาจควบคุมสื่อทั้งหมด ประชาชนถูกจำกัดในการรับรู้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะรับรู้ข้อมูลได้เพียงทางโทรทัศน์ที่ทุกรายการจะต้องถูกตรวจสอบ กลั่นกรองโดยรัฐก่อนที่จะเผยแพร่สู่ประชาชน หนังสือกลายเป็นสิ่งต้องห้ามซึ่งผู้ที่ครอบครองหนังสือถือว่ากระทำผิดกฎหมายโดยทันที

Fahrenheit 451 ถูกบรรยายโดยบุคคลที่สาม (Third-person point of view หรือ Limited Omniscient) และดำเนินเรื่องโดย กาย หรือ กีย์ มอนทาก (Guy Montag) ที่ประกอบอาชีพเป็น “นักผจญเพลิง” (Fireman) ผู้มีหน้าที่เผาทำลายหนังสือ ซึ่งต่างจากนักดับเพลิง (Fireman) ซึ่งมีหน้าที่ดับไฟตามความเข้าใจโดยทั่วไปของเรา เขาเคยรักในงานของเขามาตลอดและปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ห้ามครอบครองหนังสือ และเชื่อว่าหนังสือคือสิ่งเลวร้าย (อาจเทียบได้กับยาเสพติดในสังคมของเรา) จนกระทั่งเขาได้พบกับคลารีส แมคเคลแลน (Clarisse McClellan) เด็กสาวเพื่อนบ้านที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ วัยสิบเจ็ดปี ผู้ลักลอบครอบครองและหลงรักในหนังสือ คลารีสได้จุดประกายแก่นักจุดไฟอย่างเขาด้วยบทสนทนาทำความรู้จักกันสั้น ๆ และทิ้งท้ายคำถามแก่เขาก่อนแยกย้ายกลับบ้านของตนว่า “คุณมีความสุขไหมคะ ?” ซึ่งเป็นคำถามที่กาย มอนทาก ไม่เคยถามกับตนเองเลย คำถามนี้คอยวนเวียนอยู่ในความคิดของเขาจนเขานอนไม่หลับตลอดทั้งคืนวันนั้น

คลารีสเป็นเด็กสาวผู้ที่แอบครอบครองหนังสือ ซึ่งหลังจากที่กายได้รู้จักกับเธอ เขาก็มีทัศนติต่อหนังสือเปลี่ยนไป เขามองเห็นสิ่งที่รัฐคอยปกปิดมาโดยตลอดผ่านทางการบอกเล่าของหนังสือและวรรณกรรม เขาเริ่มอยู่ข้างเดียวกับคลารีสและต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ถูกบิดเบือนนี้ให้เป็นสังคมที่ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริง เพราะรัฐปิดบังความจริงและจำกัดองค์ความรู้ของประชาชนเพราะกลัวเรื่องของความไม่สงบเรียบร้อย กลัวว่าจะเกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชน เพราะวรรณกรรมช่วยให้ประชาชนสามารถตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิที่มนุษย์ผู้มีอิสระเสรีคนหนึ่งพึงมี ซึ่งการที่ประชาชนมีเสรีภาพนี้นอกจากความเป็นเอกภาพที่ลดลงแล้ว ยังนำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจของรัฐให้ลดลงไปอีกด้วย

เราอ่านเรื่องนี้เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งขอบอกได้เลยว่า Ray Bradbury ใช้ภาษา ถ้อยคำที่สละสลวยสุด ๆ ตอนต้นเรื่องสนุก น่าอ่าน และชวนติดตามมาก ๆ แต่ตอนจบเราไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่เพราะถึงแม้จะเป็นตอนจบแบบเปิดแต่สำหรับเรายังรู้สึกธรรมดาและไม่ทิ้งความประทับใจในตอนจบไว้ให้สักเท่าไหร่ แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าเป็นหนังสือที่ดีและอยากให้คุณลองอ่านดูเช่นกัน