Category Archives: กวีนิพนธ์

“ม้าก้านกล้วย”  หนังสือที่จะทำให้คุณหวนนึกถึงรากเหง้าและความเป็นตัวตน

                                ม้าก้านกล้วย เป็นบทกวีนิพนธ์ของ ไพวรินทร์  ขาวงาม นักเขียน “เลือดอีสาน” ที่มีความรักและตระหนักในความเป็นตัวตนและมีจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากว่าไพวรินทร์ เกิดในครอบครัวชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งชีวิตของเขาก็คล้ายกับชีวิตของเด็กชนบททั่วไป เขาได้เรียนรู้และซึมซับวิถีชีวิตของ “ลูกอีสาน” ดังนั้นชีวิตของไพวรินทร์ จึงผูกพันกับท้องทุ่งนา อาหารพื้นบ้านอีสาน ความสนุกสนาน ความมีน้ำใจไมตรีของผู้คน จึงเป็นเหตุผลที่เขารักและหวงแหนในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองอย่างมาก และสิ่งที่สะท้อนตัวตนและความคิดของเขามากที่สุดก็คือ งานเขียนที่ได้รังสรรค์ขึ้น นั่นก็คือเรื่อง ม้าก้านกล้วย

ควบม้าก้านกล้วยเพื่อเดินทาง  “สวนกลับ”  ในยุคโลกาภิวัตน์

ในช่วงเวลาที่ไพวรินทร์ได้แต่งเรื่องนี้ขึ้น ตรงกับช่วงที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกษตรแบบเน้นการส่งออกมากกว่าการผลิตเพื่อยังชีพ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ และการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้ค่านิยมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน และเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป จากยุคอดีตสู่ยุคปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงก็ได้ทำให้หลายๆสิ่งหลายๆอย่างเปลี่ยนแปลงตาม ยกตัวอย่างเช่น รัฐมีความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ชุมชนขนาดเล็กให้เป็นชุมชนเมืองที่ทันสมัย เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ จากพื้นที่ป่า ทุ่งนา ทุ่งหญ้า ก็แปรสภาพเป็นพื้นที่เมือง มีตึกสูง มีโรงงานขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่ทางสังคมของคนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน และสิ่งที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือเกิดภาวะการอพยพแรงงานอีสานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งในช่วงนี้คนอีสานได้หลั่งไหลเข้าสู่เมืองอย่างต่อเนื่องและหนาแน่น โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้าไปหางานทำ และมักจะประกอบอาชีพรับจ้าง หรือที่เรียกว่า “ขายแรงงาน”  และในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไพวรินทร์  ขาวงาม ก็ได้เขียนบทกวีนิพนธ์ เรื่องม้าก้านกล้วยขึ้น ซึ่งนับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก

เรียนรู้โลกและชีวิตผ่านโลกทัศน์ของ “ม้าก้านกล้วย”

หากเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณก็จะพบว่า กำลังอ่านแง่มุมทางความคิดของกวีเกี่ยวกับชีวิต ความฝัน และการใช้ชีวิตบนโลกและสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ดังจะเห็นว่ากวี ใช้คำว่า “นกขมิ้น” เป็นสัญลักษณ์แทนผู้คนที่หาเช้ากินค่ำ ร่อนเร่ ไร้ที่พักพิงถาวร และใช้คำว่า “น้ำตา” แทนความเจ็บปวด ความเศร้า ความเสียใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผ่านชีวิตในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสุดท้ายแล้วชีวิตเมื่อมีการเริ่มต้นก็ย่อมมีการดับสลาย ดังนั้นในมุมมองทางความคิดของกวีการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์สุดท้ายก็ต้องมีการเกิดดับ เหมือนตะวันออก และตะวันตก เคลื่อนผ่านไปเช่นนี้ และวนอยู่เช่นนี้ตามวัฏจักรของชีวิตดังนั้นการเรียนรู้ธรรมชาติและสัจธรรมของชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตและดำรงตนให้ตั้งอยู่ด้วยความเป็นกลาง วางเฉย และสงบ