Tag Archives: สังคม

มองลึก นึกไกล ใจกว้าง เขียนโดย ว. วชิรเมธี

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่เปิดมุมมองของธรรมะอีกรูปแบบหนึ่ง โดยผู้เขียน ว. วชิรเมธี เป็นนามปากกาของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ซึ่งในเล่มนี้ท่านได้พูดถึง หลักการใหญ่ ๆ คือการมองลึก นึกไกล ใจกว้าง ตามชื่อหนังสือ ได้ให้แง่คิดทางธรรมะที่เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีการนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าประกอบเพื่อสะท้อนแง่คิดต่าง ๆ และยังมีการนำเรื่องเล่าสมัยอดีตมายกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น หากใครที่ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะมาก่อน หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะนอกจากผู้เขียนจะอธิบายเรื่องหลักธรรมให้เข้าใจได้ง่ายแล้ว ยังมีภาพประกอบระหว่างบทให้รู้สึกเพลิดเพลินกับธรรมะมากยิ่งขึ้นด้วย

การมองลึก คือการที่เราไม่ตัดสินใครหรือสิ่งใดเพียงผิวเผินหรือฉาบฉวย เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเห็นอาจจะเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความจริงทั้งหมดก็ได้ คนส่วนใหญ่รีบด่วนตัดสินต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยไม่ตรวจสอบที่มาที่ไป เหตุและผลให้ดีเสียก่อน จึงไม่แปลกเลยที่ทุกวันนี้เราจะเห็นการเผยแพร่ข่าวที่บิดเบือน หรือข่าวที่ไม่เป็นความจริงเต็มไปหมด แล้วคนก็หลงเชื่อโดยง่ายไม่ศึกษาให้ดีก่อน ยิ่งเห็นได้ชัดในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ลูกโซ่การรักษาโลกแบบผิด ๆ สุดท้ายเกิดผลเสียต่อทั้งตนเองและต่อผู้อื่น การมองลึกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนพึงมี

การนึกไกล คือการนึกถึงผู้อื่นเสมอ ไม่ใช่การนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง การแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง คิดแค่ว่าตนเองจะได้อะไร แต่ไม่ได้คิดว่าที่มาของผลประโยชน์ของเราไปเบียดเบียนคนอื่นหรือเปล่า หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการเห็นแก่ตัว หากสังคมในปัจจุบันมีแต่คนนึกถึงแต่ตนเอง สังคมคงวุ่นวายน่าดู หากคนคำนึงแต่สิทธิตนเอง ไม่เคารพสิทธิของคนอื่น สังคมนั้นจะถือเป็นสังคมที่เจริญได้อย่างไร

ใจกว้าง คือความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่แบ่งเชื้อชาติศาสนา ไม่เหยียดสีเหยียดเพศ จะเห็นได้ว่าสังคมโลกปัจจุบัน ผู้คนต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหยียดทุกความต่างของผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย การทำร้ายร่างกาย การเข่นฆ่ากัน ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน หากเรามีความใจกว้าง ปราศจากอคติในใจ เราจะสามารถอยู่ร่วมโลกกันได้อย่างมีความสุข

ทั้ง 3 อย่างนี้ หากมนุษย์ทุกคนมีอยู่ในใจโลกของเราคงสงบสุขมากยิ่งขึ้น แม้ตอนนี้มันจะยังไม่ใกล้เคียงเท่าไหร่ แต่ว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนหลายกลุ่มที่พยายามรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ อาจจะเป็นก้าวเล็ก ๆ แต่ถ้าเราทำอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายผลดีก็จะตกอยู่ที่ตัวเราเอง จิตใจของเราก็จะสงบและมีความสุข ธรรมะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ หากคุณเปิดใจสักนิดจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัวและธรรมะแฝงอยู่ในทุกรูปแบบของการใช้ชีวิต หากคุณลองอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว การมองลึก นึกไกล ใจกว้าง จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

What Money Can’t Buy : The Moral Limits of Markets เงินไม่ใช่พระเจ้า

เมื่อความเป็นเสรีนิยมเติบโตในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งออกจะเกินเลยไปหน่อยเมื่อใช้เรื่องของคุณธรรม-จริยธรรมมาตัดสิน ในหนังสือ What Money Can’t Buy หรือ เงินไม่ใช่พระเจ้า ที่เขียนโดย Michael J. Sandel ศาสตราจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด นำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมาชี้ให้เราเห็นพลังอำนาจแห่งเงินที่แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือไม่ ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นพื้นที่ “ตลาด” ที่สร้างผลกำไรให้กับคนบางกลุ่มซึ่งในบางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตุหรือรู้ตัวความล้นเกินของการตลาดที่ในบางครั้งก็หลอกเราว่าเป็นเรื่องปกติและยุติธรรม

ในหนังสือเล่มนี้จะนำตัวอย่างของ ”ตลาด” ที่เกิดขึ้นจริงและอธิบายความมากเกินไปจนล้ำเส้นของของจริยธรรมไป ซึ่งแต่ละตัวอย่างก็จะถูกแบ่งออกเป็นบท ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและไม่สับสน แซนเดิล ผู้เขียน ให้ภาพของคำว่า “ตลาด” แก่ผู้อ่านอย่างเราได้กว้างมากขึ้น จนเราอ่านแล้วยังต้องตกใจที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ทั้งสิ้นในโลกของความจริง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โฆษณาที่สามารถทำเงินให้กับเจ้าของพื้นที่นั้นโดยที่คนคนนั้นไม่ต้องทำอะไรมากเลย แต่พื้นที่โฆษณานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนป้ายบิลบอร์ด บนรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าเท่านั้น เพราะบทหนึ่งในหนังสือได้ยกตัวอย่างของบุคคลคนหนึ่งที่นำหน้าผากของตนเองมาเป็นพื้นที่โฆษณา และก็ได้สร้างเงินไปแล้วเกือบแปดร้อยเหรียญสหรัฐ หรือ บทหนึ่งที่กล่าวถึงการให้สิทธิในการยิงแรดดำซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว แลกกับเงินหนึ่งแสนห้าหมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งมันช่างขัดกับการพยายามรณรงค์ของพวกองค์กรอนุรักษ์สัตว์เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่การจ้างเด็กให้อ่านหนังสือด้วยเงินสองเหรียญสหรัฐ  ผู้เขียนยังทิ้งคำถามให้เราได้คิดอีกว่า เราอยากจะอยู่ในโลกที่เงินซื้อทุกอย่างได้จริง ๆ นะหรือ?

ฟัง ๆ ดูแล้วทำให้นึกถึงข้อแลกเปลี่ยนของเราเองในตอนเด็ก ๆ กับพ่อแม่ที่เราจะช่วยพวกเขาทำงานบ้านโดยที่เขาจะต้องจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทนเลยเหมือนกันนะเนี่ย ความสัมพันธ์ในครอบครัว การทำสิ่งต่าง ๆ ให้กันด้วยน้ำจิตน้ำใจและความรักมันเลือนหายไปเมื่อเราสร้างตลาดขึ้นมาแทนที่ภายในบ้านเสียอย่างนั้น  หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของไมเคิล แซนเดิล มุมมองและทรรศนะทางเศรษฐศาสตร์ของเราจะเปิดกว้างขึ้นมาก เรามองเห็นว่าในโลกแห่งทุนนิยมเสรีที่ยกถือเงินเหนือสิ่งอื่นใดนี้ อาจถึงเวลาแล้วที่เราอย่างน้อยคนหนึ่งคงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเช่นนี้ เพราะโลกที่ทุกอย่างซื้อได้คงจะไม่ใช่โลกที่น่าอยู่อีกต่อไปแน่ ๆ