Category Archives: วรรณกรรม

“ติสตู นักปลูกต้นไม้” : วรรณกรรมสร้างสรรค์ที่เด็กไทยควรอ่าน

                มีคนเคยบอกว่างานเขียนหรือวรรณกรรมนั้นมีพลัง โดยนักเขียนเป็นผู้ใช้ปากกาสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้งดงาม ด้วยคำกล่าวนี้ทำให้นึกถึงงานเขียนของ โมรีส ดรูอง อย่างเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้คนกล่าวขานกันทั่วโลก หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1968 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสือประกอบการเรียนของนักเรียนชาวฝรั่งเศสมากกว่ายี่สิบปี จนมีการนำมาแปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยอำภา โอตระกูล และดูเหมือนว่าหนังสือที่ดูแสนธรรมดาจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะได้พบกับความมหัศจรรย์ทางความคิด

การเล่าเรื่องง่าย ๆ แต่แฝงไว้ด้วยปรัชญา

                หนังสือเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ เป็นวรรณกรรมที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ด้วยความพิเศษของเนื้อหาที่ผู้เขียนสร้างสรรค์ขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องอย่างง่ายแบบนิทานแต่แฝงปรัชญาไว้ในทุก ๆ ตัวอักษร โดยในเรื่องเล่าถึง ติสตู ซึ่งเป็นตัวแทนของความดีงาม ความเจริญงอกงามทางปัญหาและจิตวิญญาณของมนุษย์ เพื่อกระตุ้นเตือน หรือต้องการสื่อให้เด็ก ๆ เยาวชนได้รู้ว่า ในตัวของทุกคนล้วนมีสิ่งมหัศจรรย์ที่จะสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ดีขึ้น และสิ่งดีงามเหล่านั้นก็ซุกซ่อนอยู่ในตัวของทุกคน เพียงแค่เราต้องหามันให้เจอ

“ติสตู นักปลูกต้นไม้” : วรรณกรรมที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ ให้เจริญงอกงาม

                การปลูกฝังเด็ก ๆ และเยาวชนนั้นต้องอาศัยการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อให้พร้อมกับการเติบโตและเจริญงอกงาม เช่นเดียวกับเจตนารมณ์ของวรรณกรรมเล่มนี้ ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอมุมมองความคิดผ่านตัวละครติสตู ผู้มีพรสวรรค์ มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่ยอมให้ผู้ใหญ่มาตีกรอบความเป็นไปในโลกใบนี้โดยใช้ชุดความคิดแบบสำเร็จรูป แต่เขาเลือกที่จะใช้พรสวรรค์และความชอบที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเขา ทำในสิ่งที่ดีงามและสร้างสรรค์ เช่นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรง แต่ควรเป็นวิธีที่อ่อนโยน เมตตาและสร้างสรรค์ และด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าหากเรายังศรัทธาในความดี ความดีก็จะยังคงอยู่ และรอคอยวันที่เบ่งบาน ดังคำกล่าวที่แฝงด้วยปรัชญาในเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านฉุกคิด เช่น “… มีเมล็ดพันธุ์อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่เพียงในดินเท่านั้น แต่มันมีอยู่บนหลังคาบ้านเอย บนขอบหน้าต่างเอย บนทางเดิน บนรั้วไม้ บนกำแพง เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นมีเป็นเรือนแสนเรือนล้าน ที่ไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย มันอยู่ที่นั่นรอให้ลมพัดผ่านมาเพื่อพาไปยังทุ่งหรือไปสู่สวน มีอยู่บ่อยครั้งที่เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นแห้งค้างอยู่ในซอกหินโดยไม่อาจกลายเป็นดอกไม้ได้ แต่หากนิ้วหัวแม่มือสีเขียวได้สัมผัสเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เมล็ดเดียว ไม่ว่ามันจะอยู่ในที่ใดก็ตาม ดอกไม้จะงอกขึ้นในทันทีทันใด…”

The Diary of Young Girl บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์

The Diary of Young Girl หรือ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ตามชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นบันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ใช่แล้ว หนังสือเล่มนี้มาจากไดอารี่ของเด็กสาวที่ชื่อว่าแอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) หรือแอนเน่อ ฟรังก์ ตามการออกเสียงแบบเยอรมัน หนังสือเล่มนี้ไม่เป็นเพียงหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่าน แต่ขอบอกเลยว่าควรค่าแก่การมีไว้ครอบครองจริง ๆ

แอนน์ แฟรงค์ คือเด็กหญิงชาวยิววัย 14 ปีคนหนึ่งที่ต้องคอยซ่อนตัวจากพวกเกสตาโป คนของนาซี หรืออาจรวมถึงคนเยอรมันคนอื่น ๆ เพราะหากถูกพบเข้า อาจเท่ากับตาย ! วันหนึ่งเธอได้รับสมุดบันทึกหน้าปกหุ้มด้วยผ้าลายสก๊อตสีแดงเป็นของขวัญวันเกิด และหลังจากวันเกิดของเธอก็ต้องย้ายที่อยู่อาศัยจากบ้านไปอยู่ที่ห้องใต้หลังคาของสำนักงานที่พ่อทำงานอยู่กับครอบครัวและญาติรวมกันกว่า 7 – 8 คน ตลอดระยะเวลากว่าสองปี เธอได้บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประจำวัน ซึ่งในตอนนั้นสิ่งที่ใช้บันทึกข้อมูล ประวัติศาสตร์ทั้งหมดจะต้องถูกทำลาย หากแต่อ๊อตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ แฟรงค์ ได้พบสมุดไดอารี่ของลูกสาวภายหลังจากที่เขาถูกปล่อยตัวเป็นอิสระจากค่ายกักกันเพราะนาซีแพ้สงครามแล้ว และรวบรวมกับบันทึกที่จดลงบนกระดาษของลูกสาวนำไปเสนอให้หลาย ๆ สำนักพิมพ์พิจารณา สมุดบันทึกของสาวน้อยแอนน์ แฟรงค์ จึงมีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรม

หากคุณได้อ่านสมุดไดอารี่ของเธอ คุณจะพบว่าเธอมีความคิดความอ่านที่โตกว่าเด็กอายุ 14 อย่างมาก ในเล่มนี้มีทั้งเรื่องราวของเธอตั้งแต่ชีวิตในโรงเรียน วีรกรรมและการลงโทษที่ได้ก่อขึ้น ครอบครัว ความน้อยใจที่มีต่อพ่อแม่และพี่สาว กิจวัติประจำวันของเธอ ความรักของเธอกับปีเตอร์ วานดาน หรือ ปีเตอร์ วานเพล เด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคาร่วมกันกับเธอ รวมถึงความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องเพศของเด็กสาว นอกจากนี้แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังบอกแก่คุณอีกว่าเด็กนักเรียนชาวยิวที่ต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ เรียนหนังสือกันอยู่หรือไม่และด้วยวิธีไหน ในช่วงสงครามที่มีคนบาดเจ็บอยู่ทุกวันเพราะมีระเบิดทิ้งลงมาอยู่เรื่อย ๆ แล้วโรงพยาบาลหรือหมอมีวิธีการจัดการช่วยเหลือคนบาดเจ็บกันอย่างไร และแอนน์ แฟรงค์กับคนอื่น ๆ ที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในที่เล็ก ๆ ด้วยกันเป็นปีเคยทะเลาะกันบ้างหรือไม่ พวกเขาจะมีมุขตลกขำขันกันออกบ้างไหม และกินอาหาร ซื้อของ จับจ่ายอย่างไร แต่ไม่ว่าคุณจะเคยสงสัยในเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่ หลังจากที่คุณได้ทราบเรื่องราวต่าง ๆ ที่บันทึกโดยเด็กหญิงอายุ 14 ปีคนนี้คุณจะต้องประหลาดใจอย่างแน่นอน

ครั้งหนึ่งในบันทึกเล่มนี้ แอนน์ได้กล่าวไว้ว่าเธออยากจะมีชีวิตอยู่แม้ว่าหลังจากที่เธอตายไปแล้ว และซึ่งสาวน้อยคนนี้ก็ยังคงจะมีชีวิตอยู่จริง ๆ ทุกครั้งที่ผู้อ่านได้อ่านบันทึกของเธอ