เจ้าชายน้อย (The Little Prince) : วรรณกรรมที่จะทำให้คุณไม่อยากลืมเรื่องราวในวัยเด็ก

หลายคนคงรู้จักวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังอย่างเรื่อง เจ้าชายน้อย  (The Little Prince) ซึ่งได้มีการนำเรื่องราวจากวรรณกรรมดังกล่าวมาทำเป็นภาพยนตร์ และถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ทำให้คุณได้หวนกลับไปนึกถึงวัยเด็กอีกครั้ง เรื่องเจ้าชายน้อยจึงเต็มไปด้วยเสน่ห์ และกลิ่นอายที่งดงามของความรัก ความผูกพัน ที่คนเรามักจะทิ้งมันไว้ข้างหลังเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

การเดินทางของเจ้าชายน้อย

                เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดย อังตวน เดอ แซงเต็ก ซูเปรี ซึ่งผู้เขียนเป็นชาวฝรั่งเศส มีอาชีพเป็นนักบิน ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการบิน แต่เหตุที่แต่งเรื่องเจ้าชายน้อยขึ้นก็เนื่องจากเขาผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมา และพบว่าชีวิตในวัยเด็กนั้น คือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดแล้ว ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว และชีวิตที่มีความสุขไร้สงคราม และย้ำเตือนให้ผู้อ่านเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา และไม่ใช่เรื่องของวัตถุเงินทองใดๆ ทั้งสิ้นแต่เป็นความบริสุทธิ์งดงามของความรัก ความผูกพัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนเรานั้นมักจะหลงลืมมันไปเมื่อพวกเขาโตขึ้น บางคนลืมวัยเด็กที่ตัวเองเคยมี และถูกหล่อหลอมไปกับโลกที่เต็มไปด้วยการยื้อแย่งแข่งขัน จนในที่สุดมันก็พรากเอาความสุขจากเราไปทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็หมดสิ้น

การเดินทางของเจ้าชายน้อยจึงถูกนำเสนอในแง่ของวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์แนวปรัชญา และการเข้าใจชีวิตและความสุขของชีวิต และตัวละครเจ้าชายน้อยก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของเด็กๆ ที่พร้อมจะเรียนรู้โลกกว้างด้วยการตั้งคำถาม และหาคำตอบ ซึ่งนั่นได้ถ่ายทอดผ่านการออกเดินทางไปสำรวจดวงดาวต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบ และได้พูดคุยกับผู้คนในดาวต่างๆ และเจ้าชายน้อยก็ได้ทำหน้าที่แทนผู้อ่านในการครุ่นคิดและพยายามเข้าใจในสิ่งที่แต่ละคนบนดาวต่างๆคิด และนอกจากจะเดินทางเพื่อสำรวจดาวอื่นๆแล้ว เจ้าชายน้อยก็ได้สำรวจดาวของตัวเอง และค้นพบความลับสุดยอดที่อยู่ภายในตัวตนของตนเอง ที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

“เจ้าชายน้อย” กับการปกป้องความงดงามและความทรงจำในวัยเด็ก

                มีคำกล่าวหนึ่งในเรื่องเจ้าชายน้อยที่บอกว่า “ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อนแล้วทั้งนั้น แต่น้อยคนนักที่จะหวนระลึกได้” ฟังดูน่าเศร้าและหดหู่ แต่จริงๆแล้วอาจทำให้เรานึกย้อนไปถึงความทรงจำและความงดงามที่เราเคยหลงลืมเอาไว้ที่ใดซักแห่งก็เป็นได้ ซึ่งการที่เราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาจเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าเศร้าในคราวเดียวกัน เพราะเมื่อเรายิ่งเติบโต ยิ่งเห็นสังคมที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย แก่งแย่งแข่งขัน ทำร้ายกันเองไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ การต่อสู้ด้วยแนวคิด ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอ ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของเจ้าชายน้อยที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามเชิงปรัชญาต่อการเข้าใจโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องการปกป้องความเป็นเด็กในตัวของผู้อ่านและผู้เขียนเอง ย้ำเตือนให้ทุกคนเห็นว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์นั้นไม่จำเป็นต้องละทิ้งตัวตน ความงดงามและความทรงจำในวัยเด็ก เพราะมันเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรัก ความผูกพันและความอบอุ่นที่จะอยู่ในความทรงจำและจิตสำนึกของเราตลอดไป

ตามหาเสียงแห่งความเงียบจากหนังสือ “เงียบ : Silence in The Age of Noise”

                ในโลกปัจจุบันที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่แสวงหาความสุขจากโลกที่วุ่นวาย ยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าความสุขเกิดจากความเงียบ และความเงียบก็กำลังเพรียกหา เพียงแต่ไม่มีใครได้ยินเสียงแห่งความเงียบนั้นเลย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครได้ยินเสียงของความเงียบเหล่านั้น

Erling Kagge นักสำรวจชาวนอร์เวย์ได้ออกตามหาความเงียบ ด้วยการเดินทางไปรอบโลก จากขั้วโลกเหนือสู่ขั้วโลกใต้ และมันทำให้เขาค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ระหว่างทาง ในทุก ๆ ก้าวที่เดินผ่าน และได้บันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “เงียบ Silence in The Age of Noise”

ปรัชญาแห่งความสุขที่ซุกซ่อนอยู่ในความเงียบ

                หนังสือเล่มนี้เป็นสุดยอดแห่งปรัชญา การเดินทางเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตจากความเงียบระหว่างทาง โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าความเงียบคืออะไร? เราจะพบมันได้ที่ไหน? ทำไมมันจึงสำคัญกว่าที่เคย? โดย Erling Kagge ชาวนอร์เวย์ ซึ่งเป็นทั้งนักกฎหมาย เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ และที่สำคัญเขาเป็นนักสำรวจที่ยอดเยี่ยม วันหนึ่งเขาตัดสินใจละทิ้งชีวิตที่วุ่นวาย จากโลกที่ซับซ้อน สังคมที่เต็มไปด้วยการยื้อแย่งแข่งขัน และเขาได้ตัดสินใจออกเดินทางกว่าแปดร้อยไมล์ไปยังขั้วโลกใต้ตามลำพัง และเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถพิชิตสามขั้วโลก ทั้งขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทางที่เขาสามารถพิชิตมันได้สำเร็จ แต่ทว่ามันกลับอยู่ระหว่างทาง ทุก ๆ ก้าวที่เขาย่ำผ่าน และการเดินทางเป็นเวลานาน และระยะทางที่ไกลแสนไกลนี้เอง ที่ทำให้เขาต้องอยู่กับความเงียบ ได้ยินเพียงเสียงเท้าที่เดินผ่านหิมะ และเสียงของธรรมชาติตั้งแต่เสียงของใบไม้ผลิ จนไปถึงเสียงของสัตว์ใหญ่ ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกถึงพลังบางอย่าง ที่เขาเรียกมันว่าพลังจากธรรมชาติ และมันทำให้เขารู้ว่าความเงียบที่แท้จริงไม่ใช่ความเงียบที่ไม่มีเสียง แต่เป็นความเงียบที่เกิดจากความสงบภายในชิตใจ ถ้าเรารู้สึกสงบและพอใจนั่นแหละคือความเงียบ

ตามหาความเงียบ จากหนังสือ “เงียบ : Silence in The Age of Noise

หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นหนังสือที่แฝงด้วยปรัชญาที่แสนจะธรรมดา แต่จะมีซักกี่คนที่ค้นพบมันในตัวของเราเอง ความเงียบที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ใช่แค่ความเงียบธรรมดาที่เรารู้จักเพียงผิวเผิน แต่ความเงียบในหนังสือเล่มนี้คือความเงียบที่เกิดจากการเรียนรู้ และเข้าใจ ปล่อยวางและอยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด ที่จะทำให้เราค้นพบความเงียบในตัวเรา ฉะนั้นลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน คุณอาจจะค้นพบความเงียบบางอย่างในห้วงสำนึก ให้หนังสือเล่มนี้พาคุณเดินทางสู่ดินแดนแห่งความเงียบที่ไม่เคยหลับใหล ค่อย ๆ อ่านความเงียบเบา ๆ และคุณอาจค้นพบมันในตัวคุณก็เป็นได้

เปิดประตูสู่ “ฮุกกะ” กับหนังสือแห่งความสุข “ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก”

จากรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ขององค์การสหประชาชาติ ได้เปิดเผยว่าเดนมาร์กยังคงเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขในระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งหลายคนคงอาจสงสัยว่า ทำไมชาวเดนมาร์กจึงมีความสุขที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่โลกยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยการแข่งขัน และความเร่งรีบ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเคร่งเครียดตามมา และแน่นอนว่ากระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกดังกล่าวนั้นก็ได้เข้ามาสู่เดนมาร์กเช่นกัน แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่าแท้จริงแล้วชาวเดนมาร์กนั้นมี “ฮุกกะ” เป็นปรัชญาแห่งความสุข และหนังสือเล่มนี้เองที่จะพาคุณไขปริศนาความลับแห่งความสุขแบบฮุกกะเพื่อให้เราเข้าถึงความสุขได้อย่างชาวเดนมาร์ก

“ฮุกกะ” คืออะไร

ฮุกกะ (Hygge) เป็นคำในภาษานอร์เวย์ แปลว่า การอยู่ดีมีสุข หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ศิลปะในการสร้างความใกล้ชิด ความผูกพัน ความรู้สึกผ่อนคลายที่อยู่ในจิตวิญญาณ การรู้จักหาความสุขจากสิ่งรอบตัว จึงเรียกรวม ๆ กันว่า ความสุข ซึ่งหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนคือ Meik Wiking ผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขแห่งเดนมาร์ค โดยมีเนื้อหาที่อ่านง่าย มีภาพประกอบแบบอาร์ต ๆ ดูแล้วชวนให้ผ่อนคลาย และคุณจะได้สัมผัสถึงบรรยากาศของความเป็นฮุกกะที่แฝงอยู่ในทุกตัวอักษรในเล่ม และทำความรู้จักกับวิถีชีวิตแบบฮุกกะขนานแท้ของชาวเดนมาร์ก ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องสำคัญในการดำรงอยู่ของชีวิต

มีอะไรในเล่ม “ฮุกกะ”

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะบอกเล่าเรื่องราวความมหัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าความสุข ที่หลายคนโหยหา และวิ่งตามไขว่คว้าเพื่อให้ได้มา แต่หนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบคุณเกี่ยวกับปรัชญาความสุขที่เรียกว่า “ฮุกกะ” ของชาวเดนมาร์ก ว่า จริง ๆ แล้วความสุขอยู่ในทุก ๆ ที่ ทุก ๆ ลมหายใจ ทุก ๆ ก้าวของชีวิต เริ่มตั้งแต่การบรรยากาศ การจุดเทียน หรือ หรี่ไฟ ซึ่งในเล่มได้กล่าวย้ำเรื่องของแสงจากเปลวเทียน หรือโคมไฟและแสงตอนพระอาทิตย์กำลังตกดิน ความใส่ใจกับคนรอบข้าง ความสุขกับอาหารอย่างกาแฟ ช็อคโกแลต ลูกกวาด เค้ก ขนมหวาน ความเท่าเทียมและการแบ่งปัน ดื่มด่ำกับความซาบซึ้งใจ ปรองดอง ไร้การแข่งขัน ทำตัวให้สบาย ผ่อนคลาย เป็นตัวของตัวเอง ไม่พูดคุยเรื่องดราม่าหรือเรื่องเคร่งเครียด การพูดคุยถึงความทรงจำที่ดี ๆ ที่เคยทำร่วมกันและให้ความสำคัญกับความผูกพัน นอกจากที่กล่าวมานี้หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณได้เข้าใจถึงรสชาติของความสุขที่คุณสามารถลิ้มลองมันได้ไม่จำกัด

ค่อย ๆ เปิดหนังสือเล่มนี้เพื่อเปิดประตูสู่ “ฮุกกะ”

                การอ่านหนังสือดี ๆ ซักเล่มที่เราชอบก็ถือเป็นการเริ่มต้นสร้างความสุขของคุณได้ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่จะเปิดประตูสู่ “ฮุกกะ” ปรัชญาความสุขที่ซุกซ่อนความสุขและความพึงพอใจเอาไว้ในทุก ๆ ตัวอักษร ยิ่งจะช่วยให้คุณได้ดื่มด่ำและสัมผัสกับความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรามองข้ามไป เพราะชีวิตที่มีความสุขอาจไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวย มีเงินซื้อสิ่งที่เราต้องการ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเราคงทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาซื้อความสุขที่เราต้องการไม่มีวันหมดสิ้น และเมื่อถึงวันนั้นคุณอาจถามตัวเองว่า ความสุขคืออะไร ทั้ง ๆ ที่คุณได้หลงลืม มองข้ามหรือโยนมันทิ้งไปแล้ว คุณจึงไม่ควรพลาดหรือละเลยความสุขที่มีอยู่รอบตัว เพียงแค่ต้องพอใจกับมันและคุณสามารถพบมันได้ โดยเริ่มจากการเปิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เพื่อเปิดประตูสู่ความสุขแบบฮุกกะที่คุณอ่านแล้วไม่อยากวางมันลง

Fahrenheit 451 เขียนโดย Ray Bradbury

จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกนี้ไม่มีหนังสือ ? และหนังสือทำหน้าที่อะไรมากกว่าเพื่อความบันเทิงยามว่างและให้ความรู้หรือไม่ ? และภายใต้ความรู้ของหนังสือเหล่านั้นมีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?  ในนวนิยายเรื่อง Fahrenheit 451 เขียนโดย Ray Bradbury นักเขียนชาวอเมริกันจะจำลองสังคมที่ไร้ซึ่งหนังสือให้เราได้เห็น เรื่องนี้เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย เล่าถึงสังคมที่รัฐขึ้นมามีอำนาจควบคุมสื่อทั้งหมด ประชาชนถูกจำกัดในการรับรู้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะรับรู้ข้อมูลได้เพียงทางโทรทัศน์ที่ทุกรายการจะต้องถูกตรวจสอบ กลั่นกรองโดยรัฐก่อนที่จะเผยแพร่สู่ประชาชน หนังสือกลายเป็นสิ่งต้องห้ามซึ่งผู้ที่ครอบครองหนังสือถือว่ากระทำผิดกฎหมายโดยทันที

Fahrenheit 451 ถูกบรรยายโดยบุคคลที่สาม (Third-person point of view หรือ Limited Omniscient) และดำเนินเรื่องโดย กาย หรือ กีย์ มอนทาก (Guy Montag) ที่ประกอบอาชีพเป็น “นักผจญเพลิง” (Fireman) ผู้มีหน้าที่เผาทำลายหนังสือ ซึ่งต่างจากนักดับเพลิง (Fireman) ซึ่งมีหน้าที่ดับไฟตามความเข้าใจโดยทั่วไปของเรา เขาเคยรักในงานของเขามาตลอดและปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ห้ามครอบครองหนังสือ และเชื่อว่าหนังสือคือสิ่งเลวร้าย (อาจเทียบได้กับยาเสพติดในสังคมของเรา) จนกระทั่งเขาได้พบกับคลารีส แมคเคลแลน (Clarisse McClellan) เด็กสาวเพื่อนบ้านที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ วัยสิบเจ็ดปี ผู้ลักลอบครอบครองและหลงรักในหนังสือ คลารีสได้จุดประกายแก่นักจุดไฟอย่างเขาด้วยบทสนทนาทำความรู้จักกันสั้น ๆ และทิ้งท้ายคำถามแก่เขาก่อนแยกย้ายกลับบ้านของตนว่า “คุณมีความสุขไหมคะ ?” ซึ่งเป็นคำถามที่กาย มอนทาก ไม่เคยถามกับตนเองเลย คำถามนี้คอยวนเวียนอยู่ในความคิดของเขาจนเขานอนไม่หลับตลอดทั้งคืนวันนั้น

คลารีสเป็นเด็กสาวผู้ที่แอบครอบครองหนังสือ ซึ่งหลังจากที่กายได้รู้จักกับเธอ เขาก็มีทัศนติต่อหนังสือเปลี่ยนไป เขามองเห็นสิ่งที่รัฐคอยปกปิดมาโดยตลอดผ่านทางการบอกเล่าของหนังสือและวรรณกรรม เขาเริ่มอยู่ข้างเดียวกับคลารีสและต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ถูกบิดเบือนนี้ให้เป็นสังคมที่ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริง เพราะรัฐปิดบังความจริงและจำกัดองค์ความรู้ของประชาชนเพราะกลัวเรื่องของความไม่สงบเรียบร้อย กลัวว่าจะเกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชน เพราะวรรณกรรมช่วยให้ประชาชนสามารถตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิที่มนุษย์ผู้มีอิสระเสรีคนหนึ่งพึงมี ซึ่งการที่ประชาชนมีเสรีภาพนี้นอกจากความเป็นเอกภาพที่ลดลงแล้ว ยังนำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจของรัฐให้ลดลงไปอีกด้วย

เราอ่านเรื่องนี้เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งขอบอกได้เลยว่า Ray Bradbury ใช้ภาษา ถ้อยคำที่สละสลวยสุด ๆ ตอนต้นเรื่องสนุก น่าอ่าน และชวนติดตามมาก ๆ แต่ตอนจบเราไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่เพราะถึงแม้จะเป็นตอนจบแบบเปิดแต่สำหรับเรายังรู้สึกธรรมดาและไม่ทิ้งความประทับใจในตอนจบไว้ให้สักเท่าไหร่ แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าเป็นหนังสือที่ดีและอยากให้คุณลองอ่านดูเช่นกัน

 

What Money Can’t Buy : The Moral Limits of Markets เงินไม่ใช่พระเจ้า

เมื่อความเป็นเสรีนิยมเติบโตในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งออกจะเกินเลยไปหน่อยเมื่อใช้เรื่องของคุณธรรม-จริยธรรมมาตัดสิน ในหนังสือ What Money Can’t Buy หรือ เงินไม่ใช่พระเจ้า ที่เขียนโดย Michael J. Sandel ศาสตราจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด นำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมาชี้ให้เราเห็นพลังอำนาจแห่งเงินที่แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือไม่ ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นพื้นที่ “ตลาด” ที่สร้างผลกำไรให้กับคนบางกลุ่มซึ่งในบางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตุหรือรู้ตัวความล้นเกินของการตลาดที่ในบางครั้งก็หลอกเราว่าเป็นเรื่องปกติและยุติธรรม

ในหนังสือเล่มนี้จะนำตัวอย่างของ ”ตลาด” ที่เกิดขึ้นจริงและอธิบายความมากเกินไปจนล้ำเส้นของของจริยธรรมไป ซึ่งแต่ละตัวอย่างก็จะถูกแบ่งออกเป็นบท ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและไม่สับสน แซนเดิล ผู้เขียน ให้ภาพของคำว่า “ตลาด” แก่ผู้อ่านอย่างเราได้กว้างมากขึ้น จนเราอ่านแล้วยังต้องตกใจที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ทั้งสิ้นในโลกของความจริง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โฆษณาที่สามารถทำเงินให้กับเจ้าของพื้นที่นั้นโดยที่คนคนนั้นไม่ต้องทำอะไรมากเลย แต่พื้นที่โฆษณานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนป้ายบิลบอร์ด บนรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าเท่านั้น เพราะบทหนึ่งในหนังสือได้ยกตัวอย่างของบุคคลคนหนึ่งที่นำหน้าผากของตนเองมาเป็นพื้นที่โฆษณา และก็ได้สร้างเงินไปแล้วเกือบแปดร้อยเหรียญสหรัฐ หรือ บทหนึ่งที่กล่าวถึงการให้สิทธิในการยิงแรดดำซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว แลกกับเงินหนึ่งแสนห้าหมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งมันช่างขัดกับการพยายามรณรงค์ของพวกองค์กรอนุรักษ์สัตว์เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่การจ้างเด็กให้อ่านหนังสือด้วยเงินสองเหรียญสหรัฐ  ผู้เขียนยังทิ้งคำถามให้เราได้คิดอีกว่า เราอยากจะอยู่ในโลกที่เงินซื้อทุกอย่างได้จริง ๆ นะหรือ?

ฟัง ๆ ดูแล้วทำให้นึกถึงข้อแลกเปลี่ยนของเราเองในตอนเด็ก ๆ กับพ่อแม่ที่เราจะช่วยพวกเขาทำงานบ้านโดยที่เขาจะต้องจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทนเลยเหมือนกันนะเนี่ย ความสัมพันธ์ในครอบครัว การทำสิ่งต่าง ๆ ให้กันด้วยน้ำจิตน้ำใจและความรักมันเลือนหายไปเมื่อเราสร้างตลาดขึ้นมาแทนที่ภายในบ้านเสียอย่างนั้น  หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของไมเคิล แซนเดิล มุมมองและทรรศนะทางเศรษฐศาสตร์ของเราจะเปิดกว้างขึ้นมาก เรามองเห็นว่าในโลกแห่งทุนนิยมเสรีที่ยกถือเงินเหนือสิ่งอื่นใดนี้ อาจถึงเวลาแล้วที่เราอย่างน้อยคนหนึ่งคงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเช่นนี้ เพราะโลกที่ทุกอย่างซื้อได้คงจะไม่ใช่โลกที่น่าอยู่อีกต่อไปแน่ ๆ

 

Of Mice and Men (เพื่อนยาก) เขียนโดย John Steinbeck

นวนิยายเรื่อง Of Mice and Men ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1937 เขียนโดยจอห์น สไตน์เบค นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกัน ที่สะท้อนสังคมอเมริกันในช่วงยุคตื่นทอง หรือ California Gold Rush ที่มีข่าวลือถึงความมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรและแร่ธาตุในแคลิฟอร์เนีย ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต่างเดินทางไปที่แคลิฟอร์เนียด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่มั่งคั่งร่ำรวยมากขึ้น เช่นเดียวกันกับตัวละครหลักในเรื่องนี้ซึ่งก็คือ จอร์จ มิลตัน (George Milton) และ เลนนี่ สมอลล์ (Lennie Small)

จอร์จ และเลนนี่ เป็นคู่ซี้ที่บุคลิกต่างกันอย่างสุดขั้ว จอร์จ เป็นชายร่างผอมสูง มีความสุขุม ขณะที่เลนนี่เป็นรูปร่างท้วมใหญ่ มีบุคลิกลักษณะเหมือนเด็ก และเสพติดการลูบไล้สิ่งที่ฟู ๆ นุ่ม ๆ เช่น ขนกระต่าย หนู หรือเส้นผมผู้หญิง ทั้งที่มีความฝันร่วมกันว่าอยากจะมีบ้านฟาร์มและให้เลนนี่เลี้ยงกระต่ายแบบที่เขาชอบ ทั้งคู่จึงออกเดินทางไปยังแคลิฟอร์เนียเพื่อหางาน เก็บเงิน เพื่อให้ได้บ้านฟาร์มตามความฝัน ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นที่เลนนี่กำลังถูกตามล่าตัวจากกลุ่มชาวบ้านด้วยข้อหาข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งแท้ที่จริงแล้วเลนนี่เพียงแต่เห็นชุดกระโปรงที่ฟูฟ่องของเธอและจึงใช้มือสัมผัสเพราะนิสัยเสพติดนี้ของเขา ทั้งคู่ได้ลงหลักที่ไร่แห่งหนึ่งและเริ่มต้นทำงาน  ณ ไร่แห่งนี้ มีเคอร์ลลี่ (Curley) ลูกชายเจ้าของไร่ เขาเป็นชายตัวเล็กแต่ลักษณะกร่างพอสมควร เขาเป็นคนที่หึงหวงภรรยาอย่างมาก ขณะเดียวกันภรรยาของเขาก็ชอบเรียกร้องความสนใจจากหนุ่ม ๆ ในไร่เสมอ และแล้วปัญหานี้ก็ได้เกิดขึ้นกับเลนนี่จนได้ เขามีปัญหากับลูกชายเจ้าของไร่ที่เขาทำงานอยู่ ทั้งคู่เกิดทะเลาะกันขึ้นมา ด้วยขนาดรูปร่างแล้ว เลนนี่จึงชนะเกมนี้ไปอย่างง่ายดายและโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย ในเรื่องนี้เรายังได้เจอกับครูก (Crook) คนงานผิวดำที่ที่พักของเขาถูกปลีกออกจากคนงานที่เป็นคนขาวคนอื่น ๆ ครูกจึงเป็นคนที่มีนิสัยที่ชอบแดกดัน และขับไล่คนขาวคนอื่น ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ของเขาซึ่งรวมถึงเลนนี่และภรรยาของเคอร์ลลี่ด้วย

เกือบตลอดทั้งเรื่อง ทั้งจอร์จและเลนนี่จะชอบคุยกันถึงเรื่องความฝันของเขา จอร์จเชื่อและพร่ำสอนเลนนี่ในเรื่องการทำงานหนักและการเก็บเงินสำหรับอนาคต อย่าใช้จ่ายแบบอยู่ไปวัน ๆ เหมือนกับคนงานคนอื่น ๆ เพราะพวกเขาแตกต่างเนื่องจากพวกเขามีความฝันขณะที่คนงานเหล่านั้นไม่มี สิ่งนี้แสดงถึงความเป็นอเมริกันดรีมที่ศรัทธาในการทำงานหนักเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างชัดเจน จากนวนิยายเรื่องนี้จะสะท้อนให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้ว อเมริกันดรีมที่ว่า เป็นแค่สิ่งชวนเชื่อ (Propaganda) ที่สร้างขึ้นโดยรัฐและกระบวนการทางสังคมหรือเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง ๆ กันแน่ เราจะเห็นสภาพความทุกข์ยากของผู้คนหรือปัจเจกชนในแต่ละสถานะ ทั้งชายผิวดำชนชั้นล่าง ชายผิวขาวชนชั้นล่าง ผู้หญิงชนชั้นกลาง ฯลฯ ซึ่งขอบอกเลยว่าหนังสือเล่มนี้เรียกน้ำตาจากเราไปได้  สำหรับใครที่ชอบนวนิยายหรือกำลังศึกษาสังคมอเมริกัน (ซึ่งอันที่จริงแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับของเมืองไทยเราอยู่บ้าง) ก็อยากให้ลองอ่านนิยายเรื่อง Of Mice and Men เรื่องนี้ดูเหมือนกันนะ

 

The Witches แม่มด เขียนโดย Roald Dahl

Roald Dahl นักเขียนผู้เลื่องชื่อแห่งเกาะอังกฤษ เป็นนักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กรุ่นบุกเบิกเลยก็ว่าได้ สำหรับนวนิยายแนวแฟนตาซีสำหรับเด็กเรื่อง The Withes หรือ ชื่อในฉบับแปลไทยคือ แม่มด เล่มนี้ ถือเป็นหนึ่งในงานเขียนที่ดีที่สุดของโรอัลด์ ดาห์ล ที่แม้แต่ผู้ใหญ่อ่านแล้วก็ยังรู้สึกสนุกไปด้วย

The Witches เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหลานชายวัยเจ็ดขวบและคุณยายผู้ชอบเล่าเรื่อง ซึ่งทั้งหลานชายและคุณยายเป็นตัวละครหลักในเรื่องและชื่อทั้งสองคนก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในเรื่อง เรื่องเล่าของคุณยายที่หลานชอบฟังมากที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับแม่มด ถ้าพูดถึงแม่มดแล้วหละก็ คุณยายของเขานี่แหละที่รู้ดีเป็นที่หนึ่ง ยายบอกว่าแม่มดมักจะปลอมตัวอยู่ในคราบของผู้หญิงธรรมดา ๆ แต่พวกเธอจะชอบใส่ผ้าพันคอปกปิดหน้ากากที่บดบังหน้าตาที่แท้จริงของพวกเธอไว้ และสวมถุงมือยาวปิดบังเล็บยาวและโค้งงออันเป็นเอกลักษณ์ของตน สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือเราบอกอย่างผิวเผินไม่ได้ว่าใครคือแม่มด และที่สำคัญคือแม่มดนั้นเกลียดเด็กเป็นที่สุด พวกเธอมีจมูกที่รับรู้กลิ่นเด็ก ๆ ได้ไวมาก ฉะนั้นแล้วไม่ควรอาบน้ำบ่อย ๆ เพราะจะเป็นอันตรายต่อตนเอง วันหนึ่งมีกลุ่มองค์กรแม่มดที่คุณยายเรียกองค์กรนี้ว่า Grand High Witch มาจัดประชุมอยู่ที่โรงแรมไม่ไกลนี้โดยมีปาร์ตี้สุดหรูมาเป็นฉากบังหน้า ซึ่งคุณยายคาดว่ากลุ่มองค์กรนี้จะต้องจัดงานประชุมเพื่อก่อตั้งตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง จึงถึงเวลาแล้วของคู่ซี้ยาย-หลานที่ต้องไปขัดขวางงานประชุมไม่ให้สำเร็จไปได้ด้วยดี ระหว่างภารกิจนี้มีเรื่องราวชุลมุนวุ่นวาย ทั้งตลกโปกฮาและมีความน่ารักปนอยู่ด้วย รับประกันความสนุกแน่นอน

นิยายแฟนตาซีสำหรับเด็กเรื่อง The Witches เรื่องนี้สามารถอ่านได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านแบบตรงตัวตามเนื้อเรื่อง หรือเราอาจมองว่าเป็นการเสียดสีสังคมและชนชั้นผู้ดีของอังกฤษที่ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ผ่านทางแม่มดก็ได้ หรือไม่ เรื่องนี้อาจเป็นวิธีการสอนเด็ก ๆ อันแยบคายของโรอัลด์ ดาห์ล ที่สอนเด็ก ๆ ไม่ให้ไว้ใจคนแปลกหน้าง่าย ๆ อย่าดูคนที่ภายนอก และไม่ให้อาบน้ำบ่อย ๆ เพราะที่อังกฤษอากาศหนาวและเด็ก ๆ อาจเจ็บป่วยเอาได้

แต่ไม่ว่านิยายเรื่องนี้จะถูกตีความไว้ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่เราได้รับหลังจากการอ่านคือความรู้สึกอบอุ่นหัวใจที่เกิดจากความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างยาย-หลาน ช่องว่างระหว่างอายุไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย แถมยังทำให้พวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากกันและกันได้มากอีกด้วย จึงเป็นไปอย่างที่ได้กล่าวไว้แต่แรกว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถอ่านเรื่องนี้ได้ ซึ่งการรับรู้หรือสิ่งที่ได้จากเรื่องนี้ก็จะต่างกันออกไปเช่นกัน

 

Across the Universe ปริศนาข้ามจักรวาล เขียนโดย Beth Revis

หากใครชื่นชอบนวนิยายแนวดิสโทเปีย เราอยากชวนให้ลองอ่านเรื่อง Across the Universe ดู เรื่องนี้อันที่จริงแล้วผู้เขียนเขียนออกมาเป็นสามเล่มจบด้วยกัน อันได้แก่ Across the Universe, A Million Suns, และ Shades of Earth รับมาแปลไทยโดยสำนักพิมพ์นานมีบุคส์ ซึ่งน่าเสียดายที่ฉบับแปลไทยยังมีแค่เล่มแรกเท่านั้น แต่สำหรับภาษาอังกฤษต้นฉบับนั้นตีพิมพ์ออกมาครบแล้วเรียบร้อย

นวนิยายเรื่องนี้ถูกบรรยายผ่านมุมมองของตัวละครสองตัวคั่นบทสลับกัน นั่นคือเอมี่ (Amy) และ เอลเดอร์ (Elder)  เอมี่คือเด็กสาวผู้มีผมสีเพลิง เธอได้รับสิทธิขึ้นเรืออวกาศกับพ่อแม่ของเธอ ในฐานะลูกของนักวิจัย ซึ่งพ่อและแม่ของเธอได้รับคัดเลือกให้เป็นทีมนักวิจัยชาวโลกที่ต้องเดินทางไปที่ดาวเคราะห์ดวงใหม่เพื่อค้นคว้า คิดค้น และทดลองเพื่อให้มนุษยชาติดำรงชีวิตบนดาวดวงใหม่นั้นได้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าดาวโลกน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน  เอมี่มีคนรักและเพื่อนที่รักอยู่บนโลกแต่เธอก็ต้องทิ้งทุกสิ่งไปและขึ้นยานกับครอบครัว ส่วนเอลเดอร์คือชายหนุ่มผู้เป็นรองผู้นำเรืออวกาศลำนี้ และเป็นคนแรก ๆ ที่เอมี่รู้จักจนกระทั่งทั้งคู่ผูกพันกันมากขึ้น ทั้งคู่คอยช่วยเหลือกันและกันจากสถานการณ์ต่าง ๆ

แต่ปัญหามีอยู่ว่า เอมี่ มนุษย์โลกที่ถูกแช่แข็งไว้ ตื่นก่อนเวลาเป็นร้อยปีด้วยการถูกละลายน้ำแข็ง มีใครบางคนบนเรืออวกาศที่ไม่พอใจเธอ อาจเป็นการสุ่ม หรือ…อาจทำเพราะพอใจเธอเป็นพิเศษ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อย่างไรแล้วการละลายน้ำแข็งเธอแบบนี้ ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่ของเธออีกแล้ว นี่เท่ากับว่าเธอที่ยอมทิ้งทั้งคนรัก เพื่อน โรงเรียนและทุกอย่างบนโลกเพื่อจะตามมาอยู่กับพ่อและแม่ แต่ก็ไม่สามารถอยู่ด้วยกันกับพ่อแม่อีกแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเธอถูกละลายน้ำแข็งด้วยฝีมือของใครบางคนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ รวมถึงพ่อและแม่ของเธอก็เป็นไปได้ที่จะถูกละลายน้ำแข็งด้วยเช่นกัน เธอและเอลเดอร์ต้องร่วมกันรีบหาตัวคนร้ายให้เร็วที่สุดก่อนที่พ่อและแม่ของเธอจะเป็นรายต่อไป เพราะหากใครที่ถูกละลายน้ำแข็งแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ออกจากตู้ได้ทันจะต้องเสียชีวิตจากการจมน้ำในตู้แช่ ซึ่งตลอดมานี้มีคนถูกละลายน้ำแข็งเรื่อย ๆ จนสถานการณ์ตกอยู่ภายใต้ความกดดัน ขอแอบบอกใบ้นิดหน่อยว่าตอนจบของเรื่องนี้อาจทำให้คุณต้องประหลาดใจ

ตลอดทั้งเรื่อง คุณจะได้เห็นระบบสังคม การปกครองบนยานที่เป็นแบบเบ็ดเสร็จ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เอมี่เคยเห็นบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้า ฤดูกาลสำหรับการทำเกษตรกรรม  ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อพยายามเลียนแบบธรมชาติที่มีอยู่บนโลก ทุกอย่างแม้กระทั่งอากาศ คนที่เคยสัมผัสธรรมชาติของจริงอย่างเอมี่เลยรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เห็นแบบนี้และอยากที่จะแก้ไขอะไรบางอย่างโดยเฉพาะความเฉื่อยชาและตายด้านของผู้คนบนยานซึ่งเธอมองว่ามันไม่ปกติ ซึ่งมันก็ไม่ปกติจริง ๆ

นวนิยายเรื่อง Across the Universe เป็นนวนิยายไซไฟ โรแมนติก และดิสโทเปียรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน เป็นอีกเรื่องที่อ่านสนุก ชวนติดตาม และจะทำให้คุณวางไม่ลงเลยจริง ๆ

 

แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้ เขียนโดย คิมรันโด

หากถามเด็ก ๆ ว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร เกินกว่า 80-90% ต้องตอบเป็นอาชีพอย่างแน่นอน นั่นเพราะปัจจุบันนี้คนเราจะผูกความสำเร็จในชีวิตไว้กับงาน และงานก็เป็นมากกว่าอาชีพไปเสียแล้วเพราะงานยังหมายถึงคุณค่าในตัวของคนคนนั้นอีกด้วย คนที่มีหน้าที่การงานที่ได้รับการยอมรับในสังคมจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ตรงกันข้าม คนที่กำลังตกงานต้องพยายามดิ้นรนหางานเพื่อให้ตนเองพ้นสภาพการว่างงานโดยเร็วเพราะนอกจากจะขาดรายได้แล้ว ยังรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่าและยังถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพในสังคมอีกด้วย จึงไม่แปลกใจที่ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่กำลังก้าวจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานจะกังวลเรื่องหน้าที่การงานของตัวเองในอนาคตหลังจบไป หากคุณหรือคนรอบข้างคุณกำลังเป็นหนึ่งในนั้นอยู่ ขอให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูและคุณอาจมองเห็นอะไรบางอย่าง

สำหรับบางอาชีพที่คุณคิดว่าคุณคงไม่ชอบ แต่แท้ที่จริงแล้วคุณอาจไม่ได้ไม่ชอบแต่คุณยังไม่รู้จักมันดีจริง ๆ ต่างหาก ในหนังสือ “แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้” เขียนโดย คิมรันโด ผู้เขียนคนเดียวกันกับหนังสือเรื่อง “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” ที่ติดอันดับหนังสือขายดีทั้งในประเทศเกาหลีใต้ประเทศไทย จะเปิดโลกทัศน์ของคุณเกี่ยวกับงาน

“งาน” แท้ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ แล้วคุณสามารถมีความสุขกับงานของคุณได้หรือไม่ ผู้เขียนจะเล่าเรื่องราวแบ่งปัน และสัมภาษณ์คนหนุ่มสาวที่ทำงานด้วยความรักเสมือนเป็นชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขา บางอาชีพคุณอาจรู้เกี่ยวกับมันแต่อาจไม่เข้าใจเกี่ยวกับมัน และบางอาชีพในบทสัมภาษณ์คุณอาจไม่เคยนึกถึงว่ามีบนโลกมาก่อนเลยก็ได้ คุณจะได้ฟังทัศนะคติและมุมมองต่องานต่าง ๆ จากคนหนุ่มสาวที่ทำอาชีพนั้น ๆ  ซึ่งคุณอาจได้ไอเดียใหม่ ๆ สำหรับอาชีพในอนาคต หรืออาจค้นพบตนเองมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้ยังบอกคุณถึงการเลือกงานที่เหมาะกับเรา การเก็บเงิน การจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจพบเจอในการทำงาน เช่น ความเครียด เวลา เรียนรู้เรื่องของกระแสโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยี และงานรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา หรือแม้แต่แนะนำเว็บไซต์หางาน ซึ่งถ้าหากคุณเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้และปรับตัวได้ คุณจะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง และก้าวหน้าได้มากขึ้น

หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าหนังสือสร้างแรงบันดาลใจเสียอีก เพราะยังเป็นหนังสือแนะนำทิศทางสำหรับคนหนุ่มสาวที่สามารถนำไปใช้ได้จริง จึงเหมาะกับคนที่กำลังหมดไฟ ท้อแท้ นักเรียน-นักศึกษาที่กังวลในอนาคตของตนเอง เป็นอีกเล่มที่อยากให้อ่านมาก เพราะหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณจะมองการทำงานเปลี่ยนไป

 

KNOW HOW & KNOW WHY กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง 2

ตอนเด็ก ๆ คุณเคยถูกพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่บอกอะไรแปลก ๆ ที่มันไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ ได้บ้างหรือไม่ อย่างเช่น นอนกินอาหารระวังจะกลายเป็นงู ร้องไห้มาก ๆ ระวังตุ๊กแกมากัดเอานะ เวลาเป็นหวัดห้ามดื่มน้ำเย็นเด็ดขาด หากโดนแมงกะพรุนกัดให้ล้างด้วยโซดา และยังมีอีกสารพัดเรื่องแปลก ๆ ที่หลายคนได้พบเจอ ในบางครั้งความเชื่อกับความจริง บางครั้งต่างกันเพียงนิดเดียวจนแยกไม่ออก สิ่งหนึ่งที่แบ่งแยกความเชื่อออกจากความจริงได้ คือการพิสูจน์ สงสัยอะไรก็พิสูจน์เสียสิ !

ในหนังสือ KNOW HOW & KNOW WHY กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง เล่ม 2 โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ จะพาคุณไปไขข้อสงสัยต่าง ๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของตัวเลขอาถรรพ์ ที่ฟังดูแล้วยังไงก็รู้ว่ามันไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย แต่ในหนังสือเล่มนี้จะบอกถึงกระบวนการที่ทำให้เราเกิดความเชื่อในเรื่องตัวเลขอาถรรพ์สุดลึกลับนี้ขึ้น ว่าอะไรที่ทำให้มันอาถรรพ์ และเราจะอธิบายความมั่วนิ่มของกฎพิสดารนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างไร หรือเรื่องราวใกล้ตัวมาก ๆ อย่างเช่น การทำงานของแว่นตาสามมิติว่า เจ้าแว่นตาประหลาดนี้ทำให้เราเห็นภาพแบน ๆ มีมิติขึ้นมาได้อย่างไร หรือคุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมขนมปังทาแยมแสนอร่อยของคุณ เวลาตกมักคว่ำหน้าแยมลง มันมักคว่ำหน้าแยมลงจริง ๆ หรือคุณคิดไปเองกันแน่นะ คุณต้องไม่เชื่อแน่ ๆ ว่ามีคนพยายามหาข้อพิสูจน์เรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังถึงขึ้นคิดสูตรคณิตศาสตร์ยาวยืดเพื่อคำนวนการตกคว่ำหน้าแยมของขนมปัง และไหนจะอาการหรือ “ปรากฏการณ์” ประหลาดอย่างซินเนสทีเซีย ที่คนที่เป็นซินเนสทีเซียจะมองเห็นตัวเลขเป็นสี หรือเมื่อฟังดนตรีแล้วรู้สึกถึงรสหวาน ซินเนสทีเซียคืออะไร เป็นอาการป่วย ความเพ้อเจ้อ หรือกลไกอะไรของสมองกันแน่ และคุณเองเป็นซินเนสทีเซียรึเปล่า

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านง่าย ๆ แม้จะมีทฤษฎีต่าง ๆ มากมายแต่การอธิบายอย่างเรียบง่ายและภาษาการเขียนที่สนุกของ ดร. บัญชา จะทำให้คุณอ่านเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างเพลิดเพลินและได้รับความรู้ที่บางเรื่องในนี้เราไม่เคยแม้แต่จะเอะใจตั้งคำถามกับมันเสียด้วยซ้ำไป

หากคุณเป็นคนรักในความรู้ ขี้สงสัย ชอบอ่านหนังสือเล่น ๆ ฆ่าเวลา หนังสือ KNOW HOW & KNOW WHY กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง 2 ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะอ่านได้ทุกเพศทุกวัย ได้ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ด้วยความหนาเพียง 144 หน้า คุณจะพบว่านั่งอ่านไปเพลิน ๆ ก็จบเล่มเสียแล้วแถมยังได้ความรู้เอาไปคุยกับเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ สนุก ๆ อีกด้วยล่ะ